กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

Morningstar 14/07/2563
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 6.3 แสนล้านบาท เติบโต 13.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกมีมูลค่าทรัพย์สินเติบโตขึ้นทั้งหมดจากเงินไหลเข้า รวมทั้งผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี นำโดยกลุ่ม Property Indirect – Flexible เป็นกลุ่มที่กลับมาเติบโตได้จากที่เคยหดตัวลงในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 13.0% ไปที่ 1.1 แสนล้านบาท (กองทุนกลุ่มนี้เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นกองทุนที่เคยอยู่ในกลุ่ม Property Indirect – Global หรือ Property Indirect)

กลุ่ม Global Allocation มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมเกือบ 9 หมื่นล้านบาท แม้จะมีเงินไหลออกสุทธิในช่วงไตรมาสล่าสุดแต่ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ยราว 9% เป็นส่วนทำให้มูลค่าทรัพย์สินยังเติบโตได้จากไตรมาสก่อนหน้า 4.8% ในขณะที่กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ Global Bond กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากมีเงินไหลเข้าเล็กน้อยในช่วงต้นปี มูลค่าทรัพย์สินเติบโตเกือบ 20% จากเงินไหลเข้าทั้งกองทุนเปิดใหม่และกองทุนที่มีอยู่เดิม

ส่วนกลุ่ม Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 40.5% ซึ่งเกิดจากผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในช่วงไตรมาสนี้หรือเฉลี่ย 18.5% และมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 8 พันล้านบาท กลุ่ม China Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 22.9% ไปที่ 5.2 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุนเปิดใหม่จาก บลจ.ธนชาต ในช่วงเดือนมีนาคมและมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 เกือบ 3 พันล้านบาทจากเงินไหลเข้าสุทธิของกลุ่มราว 4 พันล้านบาท

2020 07 14 13 45 21 FIFexfix TNA

กองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสล่าสุดราว 1.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ในรอบครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิราว 800 ล้านบาท จากทิศทางเม็ดเงินในไตรมาสนี้จะเป็นลักษณะของการจับจังหวะเข้าลงทุนในช่วงที่ผลตอบแทนฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

กองทุน Global Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิ 9.5 พันล้านบาท หลังจากที่เดือนมีนาคมมีเงินไหลออกสุทธิเกือบ -1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในไตรมาสแรกตลาดโลกมีความตื่นตระหนกในตลาดตราสารหนี้ที่อาจเกิดปัญหาการผิดนัดชำระจากธุรกิจที่ต้องหยุดชะงักจากการ lockdown ทำให้ราคาตราสารหนี้และสภาพคล่องในตลาดผิดไปจากภาวะปกติ (ผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนมีนาคม -7.2%) จึงเริ่มมีการออกมาตรการจากธนาคารกลางเช่นในสหรัฐฯ เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเริ่มมีผลตอบแทนที่ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรก รวมทั้งมีเงินไหลกลับเข้าลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนรวม 7 พันล้านบาท

แม้กลุ่ม Global Technology จะไม่ใช่กองทุนกลุ่มใหญ่ในอุตสาหกรรมแต่ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากวิถีชีวิตยุคปัจจุบันต้องมีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้จึงเป็นไปในแบบก้าวกระโดด และเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลประโยชน์จาก COVID-19 โดยเฉพาะการปรับตัวของธุรกิจในยุค New Normal และการ Work from home ในช่วง Lockdown โดยแนวโน้มธุรกิจได้สะท้อนไปยังราคาหุ้นบริษัทต่าง ๆ ที่ปรับตัวขึ้น นักลงทุนไทยบางส่วนเริ่มให้ความสนใจในกองทุนกลุ่มนี้เช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 2 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.4 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.9 พันล้านบาท

จากราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม (ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 เดือน -37.4%) ทำให้มีแรงซื้อกองทุนกลุ่ม Commodities Energy ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมรวมราว 1.5 พันล้านบาท รวม 6 เดือนเงินไหลเข้าสุทธิ 2.3 พันล้านบาท

2020 07 14 13 46 19 Q2 20 FIFexfix flow

กองทุน Feeder fund

กองทุนรวม feeder fund ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 แสนล้านบาท ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 1.2% จากสิ้นปี 2019 ในภาพรวมส่วนแบ่งตลาดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยบลจ. PIMCO ยังมีส่วนแบ่งตลาดจากกองทุน feeder fund ในประเทศไทยสูงสุดที่ 14%

ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ากองทุน feeder fund ของบลจ.ธนชาต สูงสุดที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน 1) Thanachart Eastspring Global Technology (กองทุนนี้ลงทุนไปที่ master fund จาก Polar Capital) และ 2) กองทุน Thanachart Eastspring China A Active (กองทุนนี้ลงทุนไปที่ master fund จาก บลจ. UBS) รวม 2 กองทุนเงินไหลเข้าสุทธิรวมกว่า 9 พันล้านบาท

บลจ. กรุงไทยมีเงินไหลเข้ากองทุน feeder fund รอบครึ่งปีแรกรวม 3.7 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเช่น กองทุน KTAM Global Credit Income A (กลุ่ม Global Bond) ราว 2.4 พันล้านบาท โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนกับบลจ. Schroder

ด้าน บลจ. กสิกรไทยมีเงินไหลออกจากกองทุน feeder fund สูงสุดรอบ 6 เดือน -3.7 พันล้านบาท โดยมีเงินไหลออกจากกองทุน feeder fund ในกลุ่ม Commodities Precious Metals (กองทุนทองคำ) มากที่สุดราว -3.3 พันล้านบาท

2020 07 14 14 25 59 Q2 20 feeder firm flow

ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมากองทุนรวม feeder fund ลงทุนในกองทุน master fund จากบลจ. UBS สูงสุดรวมกว่า 8 พันล้านบาท (กองทุน UBS (Lux) Invm SICAV China A Opp) ซึ่งเป็นเม็ดเงินจาก บลจ. ธนชาต และบลจ.ทหารไทยในกลุ่ม China equity รวมกัน เกือบ 6 พันล้านบาท

บลจ. Polar Capital มีเม็ดเงินลงทุนจากบลจ. ธนชาตกลุ่ม Global Technology ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ทำให้ Polar Capital มีเม็ดเงินจาก feeder fund ของไทยสูงสุดเป็นอันดับสองในไตรมาสล่าสุด ถัดมาที่บลจ. JPMorgan ที่มีเม็ดเงินเข้าลงทุนสุทธิเป็นอันดับ 3 ที่ 5.5 พันล้านบาท โดยเป็นเงินจากบลจ. ทหารไทยในกลุ่ม Global Bond ถึง 6.2 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน บลจ. PIMCO มีเงินไหลออกมากที่สุดจากกองทุนโดยบลจ. ทหารไทย -4.2 พันล้านบาทซึ่งเป็นกองทุนในกลุ่ม Global Bond เช่นกัน กองทุนจาก SPDR State Street มีเงินไหลออกสุทธิ -4.4 พันล้านบาท โดยเป็นเงินที่จากกลุ่มกองทุนทองคำรวม -4.8 พันล้านบาท

2020 07 14 14 26 38 Q2 20 master firm flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar