10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธ

กลุ่มกองทุนส่วนใหญ่ใน 10 อันดับแรก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงกว่าไตรมาสแรกของปีที่แล้ว กลุ่มกองทุน Money Market ที่ยังเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดที่เกือบ 7 แสนล้านบาท 

Morningstar 19/04/2564
Facebook Twitter LinkedIn

หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจะพบกว่ากลุ่มกองทุนส่วนใหญ่ใน 10 อันดับแรก มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงกว่าไตรมาสแรกของปีที่แล้ว กลุ่มกองทุน Money Market ที่ยังเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดที่เกือบ 7 แสนล้านบาท แต่มีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่องหรือลดลง 7.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินที่มากกว่าสูงกว่ากลุ่ม Equity Large-Cap ที่ตามมาเป็นอันดับสองเพียง 3 หมื่นกว่าล้านบาท

กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.7 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 23.8% จากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนี SET Index อยู่ที่ระดับ 1,100 จุด เทียบกับไตรมาสล่าสุดที่ระดับ 1,500 จุด อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมากองทุนกลุ่มนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือเป็นขาออกต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า

กองทุนตราสารหนี้ที่เคยได้รับผลกระทบจากช่วงต้นของโควิด-19 เช่นกลุ่ม Flexible Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้น 25.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อย 2.2 พันล้านบาท หรือไหลเข้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

tna

ด้านทิศทางของเม็ดเงินกองทุนกลุ่มต่าง ๆ นั้น ทางฝั่งของเม็ดเงินไหลออกสุทธิ ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินลงทุนในประเทศทั้งกองทุน Money Market เป็นเม็ดเงินไหลออกสุทธิสูงสุด 5.5 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 9 พันล้านบาท กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ที่ไหลออกสุทธิมากเป็นอันดับสอง ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท

กองทุนผสมที่ลงทุนในประเทศทั้ง 3 กลุ่มคือ Aggressive Allocation, Moderate Allocation และ Conservative Allocation มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิรวมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินออกจากกลุ่ม Conservative Allocation 1.6 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยรอบ 3 เดือนกองทุนผสมอยู่ที่ 9.8%, 5.1% และ 1.8% ตามลำดับ

จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวขึ้นส่งผลต่อกองทุนรวมประเภทตราสารหนี้ในช่วงเดือนมีนาคม โดยในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนกลุ่ม Mid/Long Term Bond, Short Term Bond และ Global Bond นั้นอยู่ที่ -0.6%, -0.1% และ -0.6% ตามลำดับ และทั้ง 3 กลุ่มล้วนแต่มีทิศทางเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสที่ผ่านมา จากที่เป็นเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่ 4 ปี 2020

ทางฝั่งของเงินไหลเข้าสุทธิ 10 อันดับแรกล้วนแต่เป็นการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด นำโดยกองทุนตราสารทุนเช่น กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นทั่วโลก กองทุนหุ้น Health Care เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Foreign Investment Miscellaneous ที่จะเป็นกลุ่มสำหรับกองทุนที่ไม่เข้านิยามกลุ่มกองทุนอื่น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นเม็ดเงินกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เป็นหลัก

flow by cat

ในไตรมาสล่าสุดนี้เม็ดเงินที่ไหลเข้ากลุ่ม Foreign Investment Miscellaneous นั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินที่ไหลเข้ากองทุนทริกเกอร์ฟันด์ โดยมีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เปิดในช่วงต้นปีจำนวน 19 กองทุน ในจำนวนนี้เข้าเงื่อนไขปิดกองทุนไปแล้วจำนวน 2 กองทุน รวมมูลค่ากองทุนทริกเกอร์ที่มีการเปิดใหม่และยังไม่เข้าเงื่อนไขปิดกองนับตั้งแต่ช่วงปี 2020 ทั้งสิ้น 2.6 หมื่นล้านบาท

การกลับมาของกองทุนทริกเกอร์ในรอบนี้มีหลายกองทุนสามารถปิดได้ตามเงื่อนไขผลตอบแทนกองทุน จากภาพด้านล่างเป็นการแสดงช่วงอายุกองทุนทริกเกอร์ตั้งแต่วันเริ่มจนถึงวันปิดกองทุน โดยแถบสีแดงคือกองทุนที่สามารถปิดได้ตามเงื่อไข และแถบสีน้ำเงินคือกองทุนที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขปิดกอง โดยอายุกองทุนยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน (แสดงโดยแถบสีน้ำเงินยาวมาจนด้านขวาสุดที่เป็นเวลาปัจจุบัน)

การลงทุนทริกเกอร์ฟันด์ถือเป็นการจับจังหวะการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่เป็นการสะท้อนมุมมองของผู้จัดการกองทุนต่อทิศทางของตลาดหุ้นหรือตราสารใด ๆ ที่มองว่าจะเป็นขาขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นข้อดีหากมีการคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามคาดหวังในเวลาไม่ถึง 1 ปี อย่างไรก็ดีกองทุนทริกเกอร์บางกองในอดีตนั้นไม่สามารถปิดได้ตามเงื่อนไข อีกทั้งอาจทำให้นักลงทุนเสียโอกาสการลงทุนในกองทุนเปิดที่อาจสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกันหรือสูงกว่าในบางสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 11.6% ซึ่งมีค่าสูงสุด-ต่ำสุดที่ 27.0% และ 6.2% หมายความว่าผู้ลงทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุนทริกเกอร์ในช่วงตลาดขาขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกองทุนทริกเกอร์มีเงื่อนไขขายกองทุนที่ผลตอบแทนราว 5%-6% นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังไม่สามารถขายคืนเงินลงทุนได้ก่อนเวลาที่กำหนด รวมทั้งอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมกองทุนที่สูงกว่ากองทุนเปิด

trigger

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar