Global Thematic Funds (ตอนที่ 2)

หลังจากที่เราได้ศึกษาข้อมูลกองทุน Thematic funds ไปในส่วนแรกแล้ว ต่อไปลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เราควรรู้และศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนประเภทนี้

Morningstar 05/07/2564
Facebook Twitter LinkedIn

Theme การลงทุน

การวิเคราะห์หาธีมลงทุนคือสิ่งแรกที่ต้องทำ ธีมที่ดีจะต้องมีเหตุผล มีความน่าเชื่อถือ มีเรื่องราวการเติบโตที่สอดคล้องและน่าสนใจ ธีมบางอย่างอาจล้าหลังไปแล้วในปัจจุบัน ผู้ลงทุนคงต้องวิเคราะห์ดูว่าธีมที่เลือกอย่างเช่น Work from home จะยั่งยืนไปตลอดในช่วง 3 ปีจากนี้หรือไม่ หรือธีมบางอย่างจะเป็นที่นิยมไปได้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ควรจะออกจากการลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจก็คือ ความเสี่ยงที่สำคัญของการลงทุนในธีมดังกล่าวมีเรื่องไรบ้าง และอะไรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนได้บ้าง เช่น หากลงทุนในธีมกัญชง ความเสี่ยงสำคัญก็คือเรื่องกฏระเบียบ เป็นต้น

วิเคราะห์การลงทุนของกองทุน

ผู้ลงทุนควรที่จะสำรวจดูด้วยว่ากองทุนต่างๆนั้นสามารถลงทุนตามธีมได้ดีจริงขนาดไหน เพราะบางธีมก็ไม่อาจหาหุ้นเพื่อลงทุนได้ตรงตามต้องการได้เสมอไป บริษัทอาจมีรายได้มาจากหลายธุรกิจ หรือบางบริษัทที่ทำธุรกิจตรงกับธีมที่เราต้องการก็จริง แต่ก็ไม่สามารถสร้างกำไรที่ดีให้ได้ หรือบางครั้งราคาหุ้นก็สะท้อนการเติบโตในอนาคตไปทั้งหมดแล้ว

ข้อดีข้อเสียของกองทุนแบบ Active และ Passive

กองทุนแบบ Active หรือ Passive ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น Active funds มีข้อดีด้านความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน เช่น อาจเลือกที่จะลงทุนให้น้ำหนักมากๆในหุ้นที่ดี และไม่ลงทุนในหุ้นหรือบริษัทที่แย่ได้ (ซึ่งต่างจาก Passive funds ที่ต้องลงทุนตามดัชนี) ส่วนข้อเสียของ Active funds คือเรื่องของค่าใช้จ่ายกองทุนที่สูงกว่า Passive funds ขณะที่ผลตอบแทนก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป สำหรับข้อดีของ Passive funds ก็คือมีค่าธรรมเนียมกองทุนที่ต่ำกว่า มีการเปิดเผยข้อมูลที่ดี แต่ก็แลกกับข้อเสียคือการมีข้อจำกัดในการลงทุนที่ต้องเลือกหุ้นและให้น้ำหนักการลงทุนล้อตามดัชนี

เกณฑ์การเลือกหุ้นของ Thematic funds

ส่วนใหญ่กองทุนประเภท Passive มักจะเลือกหุ้นลงทุนโดยดูจากแหล่งที่มาของรายได้เป็นหลัก เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนในพลังงานทางเลือก จะเลือกบริษัทลงทุนโดยอิงจากสัดส่วนรายได้ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือลม เป็นต้น นอกจากนี้บางกองทุนก็อาจมีคณะกรรมการลงทุนเข้ามาช่วยตัดสินใจในการลงทุน เหมือนเป็นการนำเอามุมมองเชิงคุณภาพมาช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติม

เกณฑ์เลือกน้ำหนักหุ้นในดัชนี

หลังจากที่ได้รายชื่อหุ้นที่จะลงทุนมาแล้ว ในแต่ละดัชนีจะมีการใส่น้ำหนักการลงทุนของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งกองทุนเหล่านี้อาจเลือกลงทุนโดยใช้เกณฑ์ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นโดยอิงตามน้ำหนักหุ้นนั้นๆในดัชนี (Market-cap-weighting approach) หรืออาจเลือกให้น้ำหนักแบบเท่าๆกันในหุ้นทุกตัว (Equally weight) เพื่อให้ความสำคัญต่อหุ้นขนาดเล็กและขนาดใหญ่เท่ากัน นอกจากนี้บางกองทุนอาจลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นโดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นสำหรับหุ้นที่ตรงตามธีมของกองทุน

สภาพคล่อง

Thematic funds บางประเภทอาจลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก สภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ แต่เป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูง อย่างไรก็ตามด้วยสภาพคล่องที่ต่ำอาจทำให้การซื้อขายหุ้นเหล่านี้มีต้นทุนที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้หากกองทุนถูกไถ่ถอนหน่วยจำนวนมาก การจะขายหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำออกไปยิ่งทำได้ยากขึ้น จึงนับว่าเป็นความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้และอาจทำให้ผู้ถือหน่วยมีต้นทุนการซื้อขายกองทุนที่สูงขึ้น

เลือกกอง Thematic funds อย่างไรเพื่อลงทุน

เนื่องจากกองประเภทนี้ลงทุนกระจุกอยู่แค่บางอุตสาหกรรมและมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด แต่คงไม่เหมาะหากจะนำเงินลงทุนทั้งหมดมาลงทุนใน  Thematic funds อย่างเดียว ซึ่งข้อดีคือหากนักลงทุนอยากลงทุนในบางธีมแต่ไม่มีเวลาและเครื่องมือมากพอ การลงทุนผ่าน Thematic funds ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีได้ และนอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลงได้ด้วย อย่างเช่นกอง Alternative energy สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นพลังงานรายตัวที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar