Morningstar Sustainability Rating 2021

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์จะมีการปรับ Morningstar Sustainability Rating จากการนำ Country Risk Ratings ที่มีการประเมินโดย Sustainalytics มาเป็นส่วนในการให้เรตติ้งกองทุน

Morningstar 21/10/2564
Facebook Twitter LinkedIn

Morningstar Sustainability Rating มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ของแต่ละพอร์ตหรือกองทุน โดยได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 2016 และในเดือนพฤศจิกายนนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์จะมีการปรับ Morningstar Sustainability Rating โดยเป็นการปรับเพื่อให้มีเรตติ้งครอบคลุมไปถึงกองทุนที่ลงทุนในตราสารภาครัฐมากขึ้น จากการนำ Country Risk Ratings ที่มีการประเมินโดย Sustainalytics มาเป็นส่วนในการให้เรตติ้งกองทุน

วิธีการคำนวณเรตติ้งแบบเดิมกับแบบใหม่ต่างกันอย่างไร

หากกองทุนมีการลงทุนในตราสารเช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้ และอื่น ๆ ที่กำหนดครบอย่างน้อย 67% ของมูลค่ากองทุน และตราสารนั้นต้องได้รับการประเมินโดย Sustainalytics อย่างน้อย 67% หลังจากนั้นจะถูกปรับสัดส่วน (rescale) เป็น 100% ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการคำนวณ Morningstar Sustainability Rating ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการคำนวณที่ประกอบด้วยขั้นตอนหลักคือ

1) นำข้อมูลคะแนน ESG Risk Ratings ของแต่ละ holding (เช่น หุ้นรายตัว) ในพอร์ตกองทุนมาประเมินเพื่อเป็นคะแนนของแต่ละพอร์ตโฟลิโอ

2) เมื่อได้คะแนนแต่ละพอร์ตแล้วจึงนำมาหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง เพื่อเป็นคะแนนของกองทุนนั้น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้วย กรณีกองทุนในประเทศไทยที่มีการรายงานข้อมูลพอร์ตการลงทุนเป็นรายไตรมาส ทำให้ระบบการคำนวณจะนำข้อมูลพอร์ตล่าสุดมาใช้ในเดือนที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลพอร์ตกองทุน เช่น การคำนวณคะแนนพอร์ตรอบเดือนกรกฎาคมจะใช้ข้อมูลพอร์ตกองทุนในเดือนมิถุนายนมาคำนวณ

3) จากนั้นนำคะแนนแต่ละกองทุนมาเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นใน Global Category เดียวกัน

การปรับเรตติ้งในครั้งนี้มีหลักไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพียงแต่มีการนำข้อมูล Country Risk Rating มาเป็นอีกส่วนหนึ่งของการประเมินในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนในตราสารภาครัฐ หรือพูดง่าย ๆ คือ จากเดิมที่ Morningstar Sustainability Rating จะนำข้อมูล ESG Risk Rating ในรายบริษัทเอกชนมาประเมินเพียงอย่างเดียว (ทำให้กองทุนที่มีเรตติ้งส่วนใหญ่เป็นกองทุนหุ้น หรือกองทุนผสมเป็นบางส่วน) การปรับครั้งนี้จะมีการนำ Country Risk Rating มาประเมินในส่วนของตราสารภาครัฐควบคู่ไปกับส่วนของ Corporate จึงทำให้เรตติ้งจะครอบคลุมถึงกองทุนตราสารหนี้หรือกองทุนผสมที่ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญกับพอร์ตกองทุน

ฉะนั้นการนำ Country Risk Rating มาใช้นี้ จะทำให้การประเมินแบ่งเป็น 2 ด้านคู่ขนานกันคือ 1) ด้าน Corporate โดยใช้ข้อมูล ESG Risk Rating และ 2) ด้าน Sovereign หรือ ส่วนของตราสารภาครัฐโดยใช้ข้อมูล Country Risk Rating และนำข้อมูลทั้ง 2 ด้านมาประเมินร่วมกันในขั้นตอนสุดท้ายตามสัดส่วนการลงทุนและออกมาเป็น Morningstar Sustainability Rating สำหรับกองทุน โดยขั้นตอนทั้งหมดแสดงในภาพด้านล่างนี้

steps

Country Risk Ratings คืออะไร

ข้อมูล Country Risk Ratings นี้เป็นการบ่งบอกถึงความเสี่ยงด้านความมั่งคั่งและพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละประเทศ โดยประเมินว่าทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล ไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ นั้นได้รับการจัดการและใช้ประโยชน์เพื่อความมั่งคั่งของประเทศอย่างไร ซึ่งคะแนนน้อยหมายถึงความเสี่ยงต่ำ ปัจจุบันประเทศไทยมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางหรืออันดับที่ 84 จาก 169 ประเทศ สำหรับประเทศ 20 อันดับแรกที่มีความเสี่ยงต่ำสุดส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป ในขณะที่ในแถบเอเชียที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ สิงคโปร์และญี่ปุ่นอยู่ลำดับที่ 18 และ 20 ตามลำดับ

country risk

Morningstar Sustainability Rating ไม่ใช่เครื่องหมายยืนยันการลงทุนอย่างยั่งยืน

จากที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า กองทุนจะได้รับการประเมิน Morningstar Sustainability Rating หากมีการลงทุนตามเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้กองทุนใดก็ตามที่มีการลงทุนตามเกณฑ์จะได้รับการประเมินโดยอัตโนมัติ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่ากองทุนที่มี Morningstar Sustainability Rating นั้นอาจไม่มีนโยบายการลงทุนเพื่อความยั่งยืนก็ได้ เพียงแต่มีการลงทุนตามเกณฑ์พร้อมกับทางมอร์นิ่งสตาร์มีข้อมูลครอบคลุมตามพอร์ตที่กองทุนลงทุนอยู่

ฉะนั้น Morningstar Sustainability Rating จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายยืนยันว่ากองทุนที่มีเรตติ้งนี้เป็นการลงทุนอย่างยั่งยืน หากนักลงทุนต้องการทราบว่ากองทุนเป็นการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือไม่ สามารถดูข้อมูลเบื้องต้นได้ในหนังสือชี้ชวนกองทุนหัวข้อนโยบายการลงทุน หรือทางเว็บไซต์ของทางมอร์นิ่งสตาร์ที่จะแสดงข้อมูลรายกองทุน โดยคลิกไปที่หมวด “Sustainability” จะมีข้อมูลระบุว่า “กองทุนยั่งยืนตามหนังสือชี้ชวน” ตามตัวอย่างด้านล่างนี้

sample

การลงทุนเพื่อความยั่งยืนนั้นอาจมีรายละเอียดที่ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนหลายท่าน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้นและปัจจุบันหลายภาคส่วนได้มีการตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน นักลงทุนอาจลองเริ่มศึกษาเกี่ยวกับกองทุนยั่งยืน เพื่อเป็นอีกส่วนประกอบหนึ่งที่จะช่วยให้แผนการลงทุนมีความสมบูรณ์มากขึ้นได้

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar