ผลกระทบที่เกิดจากเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมักทำให้ความมั่งคั่งของเรานั้นลดลง ทั้งจากราคาพลังงาน สินค้า และยานพาหนะที่เพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญยังทำให้ความเชื่อมั่นลดลงอีกด้วย

Morningstar 27/06/2565
Facebook Twitter LinkedIn

อัตราเงินเฟ้อทำให้การออมและการลงทุนลดลง

อัตราเงินเฟ้อทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นลดลง โดยในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นนั้นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างๆที่หักด้วยอัตราเงินเฟ้อนั้นมักจะติดลบไปด้วย และทำให้การวางแผนการลงทุนนั้นมีความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากไม่อาจคาดการณ์ได้แน่ชัดว่าจะต้องลงทุนด้วยจำนวนเท่าไหร่เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้ซึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่เปลี่ยนไป

อัตราเงินเฟ้อกระทบต่อการวางแผนเพื่อการเกษียณในอนาคต

ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ต้องเตรียมเงินออมในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อรองรับการเกษียณในอนาคต และด้วยแนวโน้มค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจทำให้จำนวนเงินออมที่เหลือเก็บนั้นลดลงไปด้วย เนื่องจากผู้เกษียณอายุอาจต้องพึ่งพาการใช้จ่ายเงินจากเงินในกองทุนที่ออมไว้ในจำนวนที่มากขึ้นหรือมากกว่าแผนการใช้จ่ายที่ตั้งใจไว้แต่แรก

อัตราเงินเฟ้อมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ

เนื่องจากผู้บริโภคอาจต้องเปรียบเทียบระหว่างเงินออมที่มีกับต้นทุนในการได้มาของสินค้าและบริการและเลือกใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่คุ้มค่ามากที่สุดแทน หากเกรงว่าราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตก็อาจทำให้ผู้บริโภคกักตุนสินค้ามากขึ้นจนเกิดการขาดแคลนสินค้าในตลาดหรือทำให้สินค้ายิ่งมีราคาแพงมากขึ้นได้ และการตัดสินใจซื้อสินค้าบางรายการที่มีต้นทุนสูง เช่น รถยนต์ ทำให้อาจชะลอการซื้อออกไปหรืออาจตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นเพราะกลัวราคาจะสูงขึ้นอีกในอนาคต

อัตราเงินเฟ้อนำไปสู่การกู้ยืม

เมื่ออัตราเงินเฟ้อทำให้รายได้ในอนาคตมีแนวโน้มลดลงขณะที่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้นในการกู้ยืมเพื่อนำมาจ่ายคืนหนี้สิน โดยเฉพาะการกู้ยืมเพื่อล็อคอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ล่วงหน้าเช่นการกู้ซื้อบ้าน อย่างไรก็ตาม หากเป็นการกู้ยืมที่ดอกเบี้ยเงินกู้เป็นแบบลอยตัวก็อาจทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในอนาคตเช่นกัน

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออาจปรับลดลงในอนาคต

มีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้ออาจลดลงในอนาคต เพราะตัวเลข CPI ของสหรัฐในเดือนเมษายนเริ่มปรับขึ้นในอัตราที่ลดลง (แม้ว่าจะเร่งตัวอีกครั้งในเดือน พ.ค.) ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างยังเติบโตแบบปกติ และต้นทุนสินค้าบางอย่างเริ่มผ่อนคลาย เช่น ราคาปุ๋ย อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ การขนส่งสินค้าทางเรือ และทำให้คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในอีก 5 ปีข้างหน้าจะปรับลดลงเพราะหากดูส่วนต่างระหว่าง Treasury yields กับ Treasury Inflation-Protected Securities จะพบว่าตลาดได้คาดการณ์ล่วงหน้าไปแล้วว่าในอีก 5 ปีอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงไปสู่ 2.76% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3.20%

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar