ในช่วงไตรมาสที่ 2 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรงทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) หลังจากที่มีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี แต่เมื่อเข้าไตรมาสที่ 3 ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวขึ้น ทำให้กลับเป็นเงินไหลออกสุทธิอีกครั้ง
ดัชนี SET Index มีการปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีทิศทางย่อลงในเดือนกันยายน โดยไปปิดที่ 1,589.51 หรือเท่ากับผลตอบแทนรวม 3 เดือนที่ 2.3% หรือสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ -1.6% ทำให้กองทุนหุ้นไทยกลับมามีเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยรวมทั้งไตรมาสเป็นเงินไหลออกสุทธิเกือบ 4 พันล้านบาท หรือสะสม 9 เดือนไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 6.8%
กองทุน AIA Thai Equity (AIA-TEQ) มีเงินไหลเข้าสะสมสูงสุดในรอบ 3 เดือนล่าสุดและ 9 เดือนแรกที่มูลค่ากว่า 500 ล้านบาทและ 1.2 พันล้านบาทตามลำดับ บลจ. เอไอเอมีเงินไหลเข้าสุทธิรอบ 9 เดือนสูงสุด 1.8 พันล้านบาท ทำใหขยับขึ้นมาเป็นบลจ.ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของตลาดกองทุนหุ้นไทยที่ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษี ในขณะที่บลจ.แห่งอื่นมีเงินไหลเข้าเพียงเล็กน้อยไปจนถึงเงินไหลออกสุทธิโดยเฉพาะบลจ.รายใหญ่ เช่น บลจ.อีสท์สปริง บลจ. กสิกรไทย และบลจ.ไทยพาณิชย์
ทั้งนี้ในภาพส่วนแบ่งตลาดมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างโดย บลจ.ไทยพาณิชย์ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 16% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่บลจ.อีสท์สปริงขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 จากมูลค่ากองทุนบลจ.ทหารไทยและบลจ.ธนชาตเดิม โดยรวมมีส่วนแบ่งที่ 15% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยบลจ.บัวหลวงและบลจ.กสิกรไทยที่ 15% และ 11% ตามลำดับ