สรุปภาพรวมกองทุนรวมไทยไตรมาส 3-2022

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2021

Morningstar 18/10/2565
Facebook Twitter LinkedIn

มูลค่าทรัพย์สินหดตัว YTD 13.1% เงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.7 ล้านล้านบาท หดตัว 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 13.1% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการไหลออกจากทั้งกลุ่มกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนตราสารตลาดเงิน รวมเงินไหลออกสุทธิสะสม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท

กองทุนตราสารหนี้เงินไหลออกสุทธิชะลอตัวจากครึ่งปีแรก

กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดในไตรมาสที่ 3 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท และรอบ 9 เดือนมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท แต่หากมองในภาพรวมถือว่าเม็ดเงินไหลออกชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกอย่างมาก ซึ่งเกิดจากการเปิดกองทุน term fund ทำให้มีเงินไหลเข้าสุทธิสูง และเงินไหลออกสุทธิที่น้อยลงจากกลุ่ม Short-Term Bond หรือ Mid/Long Term Bond

เงินไหลออกจากกองทุนตราสารทุน 9 เดือน 2.3 พันล้านบาท จากแรงขายกองทุนหุ้นในประเทศ

กองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.3 ล้านล้านบาท มีเงินไหลออกสุทธิ 6.2 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือนมูลค่า 2.3 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากกองทุนหุ้นในประเทศที่มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะแรงขายกองทุน LTF และแรงขายทำกำไรในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนต่างประเทศเริ่มมีแนวโน้มเงินไหลเข้าชะลอลง แต่โดยรวมกองทุนต่างประเทศยังเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในช่วง 9 เดือน

1

กองทุนกลุ่มน้ำมันและทองคำหรือกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.2% จากสิ้นปีที่แล้ว ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีก 1.0 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนทองคำ 760 ล้านบาท โดยเป็นช่วงที่ราคาทองคำปรับลงต่อเนื่องท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันการไหลออกสุทธิจากกองทุนน้ำมันเกิดขึ้นในช่วงราคาน้ำมันปรับลงจากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้กองทุน Commodities มีเงินไหลออกสุทธิช่วง 9 เดือนที่ 2.4 พันล้านบาท

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตาม Morningstar Category

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุน Money Market ยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 7.0 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย แต่ยังคงสูงกว่าสิ้นปีที่แล้ว 8.9% โดยหลังจากมีเงินไหลเข้าสูงสุดในช่วงครึ่งปีแรก ได้เปลี่ยนเป็นเงินไหลออกสุทธิ 5.2 พันล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือนยังเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาท

เงินไหลออกจากกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ช่วง SET Index ฟื้นตัว

กลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.8 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% จากไตรมาสที่ 2 และลดลง 8.5% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิ 7.0 พันล้านบาท โดยในเดือนกรกฎาคมมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 400 ล้านบาท ก่อนจะเปลี่ยนเป็นเงินไหลออกสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายนรวม 7.4 พันล้านบาท แสดงการขายทำกำไรในช่วงที่ดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางเดือนกันยายน รวมเงินไหลออกสุทธิรอบ 9 เดือน 3.0 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยรอบ 3 เดือนที่ 0.6% และรอบสะสม 9 เดือนที่ -3.4%  

กองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิชะลอลงจากครึ่งปีแรก

กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีเงินไหลออกสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา ชะลอตัวจากครึ่งปีแรกที่ระดับ 1 แสนล้านบาท สะสมเป็นเงินไหลออกสุทธิ 9 เดือน 1.2 แสนล้านบาท หรือไหลออกมากที่สุดในอุตสาหกรรม ทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง 30.2% จากสิ้นปีที่แล้ว เช่นเดียวกับกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวที่มีเงินไหลออกสุทธิน้อยลงที่ 9.8 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนที่ 6.4 หมื่นล้านบาท ยังถือว่าค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรม

2

กองทุนหุ้นทั่วโลกไหลออกสุทธิครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี

กองทุน Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 แสนล้านบาท หดตัวลง 7.1% จากไตรมาสก่อนและลดลง 28.8% จากสิ้นปีที่แล้ว จากผลตอบแทนที่ติดลบ 9 เดือนที่ -30.1% โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิระดับ 5 ร้อยล้านบาท หรือเป็นเงินไหลออกสุทธิครั้งแรกหลังจากไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 10 ไตรมาส รวม 9 เดือนยังคงเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท  

3

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar