ตลาดแรงงานอาจเติบโตช้าลงในปี 2024

แม้ว่าสภาวะตลาดแรงงานได้กลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิด COVID แต่คาดว่าการเติบโตของการจ้างงานจากนี้จะชะลอลงจนถึงช่วงกลางปี 2024 

Morningstar 08/09/2566
Facebook Twitter LinkedIn

แม้ว่าสภาวะตลาดแรงงานได้กลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิด COVID แต่คาดว่าการเติบโตของการจ้างงานจากนี้จะชะลอลงจนถึงช่วงกลางปี 2024 โดยตลาดแรงงานยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องในปี 2025 – 2026 และคาดการณ์ว่าการเติบโตของผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น การกลับเข้ามาทำงานของแรงงานกลับมาดีขึ้นสู่ระดับปกติจากการจ้างงานต่างๆที่ดึงคนงานกลับเข้ามาทำงาน

การเติบโตของการจ้างงานใน US เริ่มช้าลงในปี 2023 และ 2024

ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.6% ต่อปี (ลดลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 2.2%) ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการเติบโตต่อปีที่ 1.7% ระหว่างปี 2015 ถึง 2019

1

อย่างไรก็ดีแนวโน้มสำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ได้แก่

1. การเติบโตของการจ้างงานที่ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2021 แล้วและคาดว่าจะต่อเนื่องจนเกือบเป็นศูนย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024

2. บริษัทต่างๆลดการใช้แรงงานหรือลดชั่วโมงทำงาน ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 พบว่าค่าเฉลี่ยของชั่วโมงทำงานของพนักงานลดลงมากกว่า 0.7%จากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะส่งผลสำคัญต่อจำนวนการจ้างงานที่จะเติบโตช้าลงอีกด้วย

3. การจ้างงานชั่วคราวปรับลดลง บ่งชี้ถึงภาพการจ้างงานโดยรวมที่ลดลง

การเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานยังคงแย่ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID

สัดส่วนการจ้างงานของประชากรผู้ใหญ่ปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 60.4% ลดลงประมาณ 0.6% จากช่วงก่อน COVID แม้อัตราการว่างงานจะฟื้นตัวกลับมาเหลือ 3.5% ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2023 แต่อัตราการเข้าทำงานที่ยังต่ำอยู่นั้นมาจากแรงงานที่ไม่ต้องการกลับมาทำงาน

1

ทั้งนี้ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่าตัวเลขที่วัดอย่างเป็นทางการ หรืออยู่ที่ 62.9% ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2023 สูงกว่าที่สำรวจ 0.3-0.4% และอัตราการกลับเข้ามาทำงานที่ลดลงนั้นอาจมาจากกลุ่มคนอายุ 55 ปีขึ้นไปที่เลือกจะเกษียณอายุก่อนกำหนดในช่วงเกิด COVID ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 25-54 ปีมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID แล้ว ซึ่งคาดว่าการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในผู้สูงวัยชาวอเมริกันจะค่อยๆ ดีขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า แม้ว่าผลกระทบของการเกษียณอายุที่มีมากเกินจะยังคงมีอยู่ก็ตาม

การเติบโตของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมต่างๆในปี 2023-2024

1

ธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ การเติบโตของการจ้างงานในอุตสาหกรรมสุขภาพสูงถึง 35% ของจำนวนการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และคิดเป็นอัตราการเติบโต 4.4% ต่อปี ซึ่งการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากผู้คนเริ่มกลับมาหาหมออีกครั้ง รวมถึงกลับมาพักผ่อนตามแบบที่ตัวเองชอบ อย่างไรก็ตามด้วยอัตราการจ้างงานปัจจุบันที่สูงกว่าช่วงก่อน COVID แล้ว ทำให้แนวโน้มการจ้างงานเริ่มปรับลดลงจากนี้ได้

การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การจ้างงานในสองกลุ่มนี้กลับมาเติบโตสูงขึ้นถึง 3.6% ต่อปีตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค. จากที่เคยเติบโตเพียง 1.0% ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ซึ่งเป็นผลจากการกลับมาสร้างโรงงานและตลาดที่อยู่อาศัยที่กลับมามากขึ้น แต่ก็คาดว่าจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆเท่านั้นก่อนที่จะลดลงในปีหน้า

การค้าปลีกและการขนส่ง การเติบโตของการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ยังซบเซาตามความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังอ่อนแอและยังส่งผลต่อภาคการผลิตอีกด้วย

การเติบโตของค่าแรงในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

-  ค่าแรงต่อชั่วโมงโตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9% ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2023 แต่ยังคงลดลงจากจุดสูงสุดที่ 6% ในปี 2021-ช่วงต้นปี 2022

-  แม้ในปี 2022 ผู้ใช้แรงงานต้องการเพิ่มค่าแรงเพื่อตอบรับกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก  แต่ด้วยเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้คาดว่าผลกระทบจากเรื่องเงินเฟ้อนี้จะค่อยๆ หายไปในปี 2023 และลดลงมากขึ้นในปีหน้า

-  อัตราการเปิดรับตำแหน่งงานใหม่ลดลงอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในระดับสูงถึง 7.3% ในเดือน มี.ค. ปี 2022 กลับปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 5.8% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

จากข้อมูลสถิติเพื่อชี้วัดการเติบโตของค่าแรง บ่งชี้ว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2023 ค่าแรงโตเฉลี่ย 4.7% หากเทียบเป็นรายปี และลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

1

การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในปี 2024 และแนวโน้มในอนาคต

ในระยะสั้น เราคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงจะส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2024 (จาก 3.5% ในเดือน ก.ค. 2023) แต่ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้คาดว่าตลาดแรงงานจะฟื้นตัวกลับมาและอัตราการว่างงานจะลดน้อยลง โดยการกระจายตัวของตำแหน่งงานและการเติบโตของค่าแรงที่ยังสูงจะดึงดูดผู้คนให้กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงาน ด้านนายจ้างก็เริ่มลดระดับข้อกำหนดที่ไม่จำเป็นในการประกาศรับสมัครงาน และเพิ่มการฝึกฝนทักษะเฉพาะทางสำหรับผู้ใช้แรงงานมากขึ้นอีกด้วย

 

 

 

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar  Morningstar