กองทุนรวมต่างประเทศ

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ไตรมาส 3-2020

Morningstar 15/10/2563
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 7.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากปี 2019 (เพิ่มขึ้น 15.8% qoq) โดยกองทุนกลุ่ม Property Indirect - Flexible ยังเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในหมวดนี้ที่ 1.1 แสนล้านบาทลดลง -18.6% จากสิ้นปี 2019 (-2.6% qoq) ซึ่งเกิดจากปริมาณเงินไหลออกและผลตอบแทนที่ติดลบ ตามมาด้วยกลุ่ม Global Bond ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 9.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.7%จากปี 2019 (เพิ่มขึ้น 11.4% qoq) เนื่องจากมีกองทุนเปิดใหม่ในไตรมาสล่าสุด

ด้านกองทุนกลุ่ม Global Equity มีการเติบโตถึง 79.6% จากปี 2019 ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.6 หมื่นล้านบาท จากที่ในช่วง 9 เดือนแรกกองทุนกลุ่มนี้มีผลตอบแทน 11.2% บวกกับมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิที่สูง เช่นเดียวกับกองทุนกลุ่ม China Equity ที่เติบโตขึ้นเท่าตัวจากปี 2019 (62.8% qoq) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 8.4 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสล่าสุดยังคงมีกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ทำให้ทั้ง 2 กลุ่มกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินแซงกลุ่ม Global Allocation ที่เคยอยู่อันดับ 2 ในไตรมาสก่อนหน้า ที่ล่าสุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 8.2 หมื่นล้านบาท ลดลง -6.0% จากปี 2019 (ลดลง -2.4% qoq) ซึ่งถือว่าตลาดยังไม่ได้ให้ความสนใจกองทุนกลุ่มนี้มากนักในปีนี้ เห็นได้จากการมีมูลค่าเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในกลุ่มนี้

Q3 20 TH 5 FIF cat growth

ด้านทิศทางของเงินไหลเข้า-ออกนั้น ในไตรมาสล่าสุดพบว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนกลุ่ม China Equity และ Global Equity ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการส่งออกที่มีการเติบโตจากไตรมาสที่ 2 รวมทั้งภาคการผลิตที่แสดงแนวโน้มการเติบโต โดยกลุ่มกองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนเปิดใหม่ราว 5.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นจีน 3.6 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันกลุ่ม Global Equity มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนที่ 3.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเม็ดเงินจากกองทุน TMB EASTSPRING Global Capital Growth และ Thanachart Eastspring Global Capital Growth ที่เปิดใหม่ในไตรมาสล่าสุดรวม 8.8 พันล้านบาท และมีการลงทุนไปที่ Master fund กองเดียวกันคือ Amundi Funds Polen Capital Global Growth

กลุ่ม Global Bond นั้นเคยได้รับผลกระทบจากเม็ดเงินไหลออกในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ อย่างไรก็ตามหากเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ไทยจะพบว่ามีทิศทางการฟื้นตัวที่เร็วกว่า เห็นได้จากเม็ดเงินที่เริ่มกลับเข้าลงทุนมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องมาจนไตรมาสล่าสุดที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.8 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนไปจนถึง ETF ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ ทำให้ทางด้านกองทุนรวมในสหรัฐฯ ก็เริ่มเห็นเม็ดเงินกลับเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นมา

กองทุน Global Technology ยังคงเป็นกลุ่มกองทุนเด่นในปีนี้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.0% จากปี 2019 (เพิ่มขึ้น 32.3% qoq) โดยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิ 5.1 พันล้านบาท ในไตรมาสล่าสุด ขณะเดียวกันกลุ่มหุ้นเทคโนโลยียังสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หรือเฉลี่ยที่ 41.2%

Q3 20 TH 5 FIF cat flow

กลุ่ม Property Indirect - Flexible ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศขนาดใหญ่สุด มีเงินไหลออกสุทธิ -3.1 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 3 รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลออกสุทธิ -7.9 พันล้านบาท

ราคาทองคำในช่วงเดือนกันยายนเคลื่อนไหวแบบทรงตัวและปรับตัวลงเล็กน้อย ทำให้กลุ่มกองทุนทองคำหรือ Commodities Precious Metals เริ่มมีทิศทางเงินไหลเข้าราว 5 ร้อยกว่าล้านบาทหลังจากมีเงินไหลออกติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยมีเงินไหลออกสุทธิไตรมาสล่าสุด -1.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิ -7.5 พันล้านบาท

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar