สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาสที่ 3-2020

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในช่วงไตรมาสที่ผ่านมามีการเติบโตมากน้อยเพียงใด วันนี้มอร์นิ่งสตาร์รวบรวมข้อมูลมาให้ได้ติดตามกันค่ะ

Morningstar 15/10/2563
Facebook Twitter LinkedIn

ช่วงไตรมาสที่ 3 นี้หลายประเทศยังเจอสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ที่ยังเป็นแบบระบาดต่อเนื่อง หรือบางประเทศในเอเชียมีการระบาดเป็นระลอก 2-3 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกแตะระดับ 30 ล้านคนมาตั้งแต่กลางเดือนกันยายน โดยยังมีการกระจุกตัวอยู่ในประเทศแถบทวีปอเมริกา หรือประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอย่างอินเดีย ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทางฝั่งยุโรปก็กลับมามีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากต่างประเทศรายวัน ในขณะที่ยังมีการเฝ้าระวังการติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้โดยรวม COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หลายประเทศยังดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงิน ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อาจมีเงินไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนไปยังตลาดหุ้นหลายประเทศที่ปรับตัวขึ้นมา 

อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยลดลงเล็กน้อยที่ -0.6% ไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท กลุ่มทรัพย์สินขนาดใหญ่เช่น ตราสารทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.9% ทั้งนี้เกิดจากบรรยากาศการลงทุนอาจยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นมากนัก โดยเฉพาะการปรับตัวของตลาดหุ้นไทยที่ไม่สนับสนุนการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สิน ในขณะที่กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศมีการเติบโตดีแต่เป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่สูง ทำให้ไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดกองทุนรวมไทยอย่างมีนัยสำคัญ

กองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่เกือบ 1.5 ล้านล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนอาจยังชะลอที่จะเข้าลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2019 ค่อนข้างมากหรือที่มูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ทางด้านตราสารตลาดเงินมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง -0.5% จากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 7.6 แสนล้านบาท ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมามีทิศทางเป็นเงินไหลออกสุทธิ ตรงกันข้ามกับในช่วงครึ่งปีแรก ที่เป็นเงินไหลเข้าสุทธิที่ระดับ 1.7 แสนกว่าล้านบาท

จากมูลค่าทรัพย์สินกลุ่มหลักไม่ได้มีการเติบโตมากนัก ทำให้ในภาพรวมมูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังต่ำกว่าปี 2019 หรือลดลง -12.5% จากธันวาคม 2019 โดยส่วนแบ่งตลาดยังคงเป็นไปในลักษณะเดิมคือกองทุนตราสารหนี้มีสัดส่วนที่ 40% ตามมาด้วยกองทุนรวมตราสารทุน 30% และตราสารตลาดเงิน 20%

Q3 20 TH 1 broad TNA

ปริมาณเงินไหลเข้า-ออกของกองทุน

ในไตรมาส 3 นี้ เงินลงทุนไหลเข้า-ออกมีทิศทางที่เปลี่ยนไป โดยมีเงินไหลเข้ากลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยกองทุนรวมตราสารทุนเป็นกองทุนรวมเพียงประเภทเดียวมีเงินไหลเข้าสุทธิที่ระดับ 4.8 หมื่นล้านบาท และเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก แตกต่างจากไตรมาสก่อนหน้า ที่มีเงินไหลเข้าตราสารเสี่ยงต่ำมาก อย่างตราสารตลาดเงินที่สูงถึงระดับ 7 หมื่นล้านบาท

ด้านกองทุนรวมตราสารหนี้มีทิศทางเงินไหลออกสุทธิที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิรวม -3.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าไหลออกสุทธิระดับ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มีเพียงกลุ่ม Flexible Bond, Global Bond และ Short Term Bond เท่านั้น ที่มีเงินไหลเข้ารวม 3.4 หมื่นล้านบาท

กองทุนรวมผสมมีเงินไหลออกสุทธิ รวม -2.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกสูงสุดจากกองทุนกลุ่ม Aggressive Allocation (ที่มีการลงทุนในตราสารทุนไทยเป็นหลัก) ในขณะที่กองทุนรวมผสมกลุ่มอื่นมีเงินไหลออกสุทธิเช่นกัน แต่เป็นปริมาณที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด ที่ระดับต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

กองทุนรวมประเภท Commodities มีเงินไหลออกสุทธิ -1.6 พันล้านบาทต่ำสุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น .ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิกองทุนทองคำ -1.3 พันล้านบาท ขณะที่ในเดือนกันยายนเมื่อราคาทองคำย่อตัวลงเล็กน้อย กองทุนกลุ่มนี้ก็เริ่มมีทิศทางเป็นเงินไหลเข้าสุทธิหลังจากมีแรงขายทำกำไรออกมา 6 เดือนติดต่อกัน

Q3 20 TH 2 broad flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar