กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ยังมีการเติบโตที่ดี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิขยับขึ้นไปที่ 9.8 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าเมื่อสิ้นปี 2020 ราว 17% มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.5 แสนล้านบาท 

Morningstar 19/04/2564
Facebook Twitter LinkedIn

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ยังมีการเติบโตที่ดี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิขยับขึ้นไปที่ 9.8 แสนล้านบาท หรือสูงกว่าเมื่อสิ้นปี 2020 ราว 17% มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.5 แสนล้านบาท จากกราฟจะเห็นได้ว่าส่วนสีเขียวซึ่งเป็นสัดส่วนของกองทุนตราสารทุน มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างเร็วภายในระยะเวลา 3 เดือน ที่ 25% ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ประเภทอื่นมีมูลค่าลดลง เช่น กองทุนผสม -7.8% กองทุนตราสารหนี้ -10.9% และกองทุนทองคำหรือน้ำมัน -9.6%

fif

กลุ่มกองทุนหุ้นจีน (China Equity) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิระดับ 1.6 แสนล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกนี้รวม 5.5 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 50% นั้นเป็นเงินไหลเข้าจาก 2 บลจ. คือ บลจ. กรุงไทย 1.47 หมื่นล้านบาท และ บลจ. กสิกรไทย 1.45 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 40.1% จากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับกลุ่ม Global Equity ที่มีการเติบโตโดดเด่น 36.3% ไปที่ 1.6 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปีมีกองทุน Global Equity เปิดใหม่จำนวน 15 กองทุน ที่มักจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการเติบโตในยุคใหม่ ทำให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ค่อนข้างดี รวมมูลค่าเงินลงทุนกองทุนเปิดใหม่ไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาทอย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มนี้มีผลตอบแทนที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนที่เฉลี่ย -0.7% สำหรับกองทุนหุ้นจีนและที่ 2.1% สำหรับกลุ่ม Global Equity

fif

ฝั่งเม็ดเงินไหลเข้ามีกลุ่ม Property Indirect - Flexible มีเงินไหลออกสูงสุดที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำที่ 0.5% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง 14.5% กลับไปต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

กลุ่ม Global Bond มีมูลค่าทรัพย์สินที่ 9.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.9% โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท จากความกังวลเกี่ยวกับ bond yield ที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้รอบไตรมาสล่าสุดมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 0.6% โดยเม็ดเงินที่ไหลออกส่วนใหญ่มาจาก บลจ. รายใหญ่ เช่น บลจ.ทหารไทย บลจ.ธนชาต และ บลจ.กสิกรไทย รวม 3 บลจ.เป็นเงินไหลออกกว่า 8 พันล้านบาท

fif flow

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากองทุนรวมต่างประเทศมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และส่วนแบ่งตลาดมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยบลจ. 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดรวมราว 60% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกือบ 70% นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายบลจ.ที่เคยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม term fund) ที่ต่ำกว่าระดับหมื่นล้านขยับขึ้นมาสูงกว่าระดับหมื่นล้านได้ในช่วง 1 ปี จากการเติบโตหลายเท่าตัว เช่น บลจ.วรรณ บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.แอสเซท พลัส บลจ.เกียรตินาคินภัทร และบลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ โดย บลจ.วรรณ มีอัตราการเติบโตสูงสุดราว 8 เท่าจากปีที่แล้ว ไปที่เกือบ 4.5 หมื่นล้านบาท จากที่หลายกองทุนให้ผลตอบแทนสูงและสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน รวมทั้งการทยอยเปิดกองทุนทริกเกอร์มากกว่า 10 กองทุน ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ด้านบลจ.ฟิลลิป ที่แม้จะเป็นบลจ.ขนาดเล็กแต่มีกองทุนที่สร้างผลตอบแทนติดอันดับสูงสุดในปีที่แล้ว โดยในไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศกว่า 400 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนต่างประเทศแตะระดับพันล้านบาท เติบโตมากกว่า 500%

fif by firm

บลจ. กรุงไทย มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาที่ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือที่อันดับ 4 สำหรับตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ จากอัตราการเติบโต 206% จากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว โดยมีกองทุนหุ้นจีนคือ KTAM China A Shares Equity เป็นส่วนสำคัญของการเติบโต จากเงินไหลเข้าสุทธิเพียงไตรมาสเดียวถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เคยเป็นกองทุนหุ้นจีนขนาดใหญ่ที่สุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ตลาดกองทุน FIF ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบกองทุนฟีดเดอร์ (Feeder fund) โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ เกือบ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือโตกว่าเท่าตัวจากไตรมาสแรกของปี 2020 คิดเป็น 71% ของการลงทุนต่างประเทศแบบไม่รวม term fund

อย่างไรก็ตามการเลือกกองทุนมาเสนอขายในตลาดนั้นทำให้แต่ละบลจ.มีลักษณะต่างกันไป ภาพด้านล่างเป็นการแสดงภาพรวมตลาดกองทุนรวมฟีดเดอร์ โดยขนาดของแต่ละวงกลมแสดงถึงขนาดของมูลค่าทรัพย์สินกองทุนฟีดเดอร์ของแต่ละบลจ. โดยให้แกนตั้งแสดงจำนวนกองทุน feeder fund และแกนนอนแสดงสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในกองทุน master fund ที่ได้มอร์นิ่งสตาร์เรตติ้ง 4-5 ดาว โดยสาเหตุที่ใช้เรตติ้งกองทุน master fund นั้นเพื่อจะนับรวมกองทุนที่เพิ่งเปิดใหม่หรืออายุไม่ครบ 3 ปี (เกณฑ์อายุขั้นต่ำของการคำนวณเรตติ้งดาว) แต่มีการลงทุนในกองทุน master fund ที่มีอายุมากกว่า 3 ปี ซึ่งมีการคำนวณเรตติ้งแล้ว

fif bubble chart

ในแง่ของจำนวนกองทุนนั้นบลจ.ไทยพาณิชย์มีจำนวนกองทุนฟีดเดอร์ในตลาดมากกว่า 90 กองทุน เนื่องจาก 1 กองทุนอาจมีการเปิดหลายชนิดหน่วยลงทุนเมื่อเทียบกับบลจ.อื่น เช่น บลจ.กสิกรไทยและบลจ. ทหารไทยที่มีมูลค่าทรัพย์สินกองทุนฟีดเดอร์สูงกว่า แต่มีจำนวนกองทุนน้อยกว่าค่อนข้างมาก

ด้านสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินที่ลงทุนในกองทุน master fund ระดับ 4 ดาวขึ้นไปนั้น จากภาพอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือโซนทางขวาจะมีกลุ่มบลจ.ที่มีจำนวนกองทุนไม่มากนักแต่มีสัดส่วนกองทุน master fund 4 ดาวขึ้นไปที่สูงกว่า 60% โดยมีบลจ.กรุงศรีที่มีจำนวนกองทุนสูงกว่าบลจ.ส่วนใหญ่ และมีการลงทุนใน master fund 4 ดาวขึ้นไปที่สูงถึง 80%

ขณะที่ด้านซ้ายจะเป็นกลุ่มบลจ.ที่มีสัดส่วนดังกล่าวที่ต่ำกว่า 60% ของมูลค่าการลงทุนที่มีอยู่ ซึ่งอาจเป็นไปได้ 2 กรณีคือ 1) บลจ.มีการเลือกกองทุนที่มีเรตติ้งต่ำกว่า 4 ดาวจริงหรือ 2) บลจ.อาจมีกองทุนฟีดเดอร์ขนาดใหญ่ที่ลงทุนในกองทุน master fund ที่ยังมีอายุไม่ครบ 3 ปี ยกตัวอย่างเช่น บลจ.ธนชาต ที่มีสัดส่วนเรตติ้ง master fund 4-5 ดาว ต่ำกว่า 40% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกองทุน T-ES-CHINA A และ T-ES-GGREEN ลงทุนใน master fund ที่ยังไม่มีเรตติ้งดาว ซึ่ง 2 กองทุนดังกล่าวมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท (จากมูลค่ากองทุนฟีดเดอร์ทั้งหมดมากกกว่า 4 หมื่นล้านบาท)

(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้ไม่รวมกองทุนรวมหน่วยลงทุน และข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้ในอนาคตหากกองทุนขนาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงกอง master fund)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar