Greenwashing คืออะไร

การเติบโตที่รวดเร็วของกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืน ทำให้มี Sustainable funds เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็อาจเกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนว่ากองทุนเหล่านั้นช่วยส่งเสริ่มเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้จริงหรือไม่ 

Morningstar 25/10/2564
Facebook Twitter LinkedIn

การเติบโตที่รวดเร็วของกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืน ทำให้มี Sustainable funds เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็อาจเกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนว่ากองทุนเหล่านั้นช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้จริงหรือไม่ ภาวะฟอกเขียวหรือ Greenwashing อาจเกิดขึ้นได้หากเงินลงทุนเหล่านั้นไม่ได้ไปช่วยให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างแท้จริง

Greenwashing คืออะไร

ในแง่การลงทุนนั้น Greenwashing อาจเป็นความจงใจของผู้จัดการกองทุนที่ไม่ได้ทำการลงทุนตามที่กำหนดไว้หรืออาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างความคาดหวังของนักลงทุนต่อแนวทางการลงทุนเรื่อง ESG กับแนวทางการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง

นักลงทุนอาจพบว่าทำไม Sustainable funds จึงเหมือนหรือคล้ายกับกองทั่วๆไป

กองทุนที่เน้นการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นอาจมีหลายวิธีในการประเมินการลงทุน เช่น การไม่เลือกลงทุนในบางกิจการ หรือเลือกลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ ESG หรือบริษัทที่สินค้าหรือบริการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม บางกองทุนอาจใช้เกณฑ์การคัดกรองด้าน ESG ร่วมกับการใช้เกณฑ์การคัดกรองแบบปกติในการประเมินมูลค่าของบริษัทและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ซึ่งมักเป็นส่วนสำคัญในการเลือกและกำหนดน้ำหนักการลงทุนของบริษัทต่างๆในกองทุน และแม้ว่าการประเมินทางด้าน ESG จะทำให้บางบริษัทไม่ผ่านเกณฑ์การลงทุนแต่ในปัจจุบันหลายๆบริษัทก็มักจะมีเกณฑ์ประเมิน ESG ที่ดีพอให้ Sustainable funds สามารถลงทุนได้

นอกจากนี้ Passive sustainable funds มักจะให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทต่างๆตามน้ำหนักใน Market-cap ส่งผลให้หุ้นหลัก ๆ ที่ลงทุนอยู่ใน Portfolio นั้นไม่ได้แตกต่างไปจากกองทั่ว ๆ ไปที่เป็น Passive funds เช่นกัน เนื่องจากใช้วิธีเดียวกันในการให้น้ำหนักลงทุน

ทำไม Sustainable funds ถึงมีการลงทุนในกลุ่มพลังงาน

แม้ว่า Sustainable funds จะมีแนวคิดที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทพลังงานอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็อาจไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าห้ามลงทุนในกลุ่มพลังงาน กองเหล่านี้อาจเลือกลงทุนในบริษัทพลังงานที่มีเกณฑ์ ESG ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ  แทน หรือลงทุนในบริษัทที่พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือมีการเพิ่มสัดส่วนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจหลักยังคงเป็น fossil fuels ก็ตาม

 ทำไม Sustainable funds ถึงมีการลงทุนในบริษัทที่เป็นสีเทา หรือไม่ลงทุนในบริษัทที่ดี

เนื่องจากการประเมิน ESG ปกติจะไม่ได้มีการแยกว่าบริษัทไหนดีหรือไม่ดี แต่เป็นการประเมินบริษัทต่าง ๆ ในมุม ESG เท่านั้นว่าเป็นอย่างไร และแต่ละกองทุนก็มีเกณฑ์วัดผลที่แตกต่างกัน เข่น บางกองทุนอาจไม่ลงทุนในบริษัทที่มี ESG แย่มาก ๆ หรืออาจยังเลือกลงทุนในบาง Sector แต่เน้นบริษัทที่มี ESG ที่ดีเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าบางกองทุนอาจมีการลงทุนในกลุ่มพลังงานโดยเลือกบริษัทที่มีคะแนน ESG ดีที่สุดในกลุ่ม ทำให้อาจขัดแย้งกับความรู้สึกของนักลงทุนที่อาจมองว่าไม่ควรลงทุนในบริษัทเหล่านี้เลย หรืออย่างกรณี TESLA ที่นักลงทุนอาจมองว่าเป็นบริษัทที่ดีส่งเสริมให้เกิดมลพิษต่ำหรือลดคาร์บอนได้ แต่ทำไมบางกองทุนถึงไม่มีลงทุน นั่นเป็นเพราะ TESLA อาจไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการกำกับดูแลกิจการโดยรวมก็เป็นได้  

การเปิดเผยข้อมูล

ที่ผ่านมาหลายๆกองทุนที่มีการประกาศว่าใช้หลัก ESG ในการลงทุนนั้น แต่ก็ยังมีการเปิดเผยข้อมูลหรือหลักฐานไม่มากพอ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน Asset management หลายๆแห่งเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และพยายามทำให้เป็นข้อมูลที่ง่ายต่อการเข้าถึงได้มากขึ้น การให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ที่มากขึ้นของกองทุนก็เพื่อให้แนวทางของกองทุนนั้นเป็นไปตามกฏระเบียบและแนวทางของหน่วยงานรัฐมากขึ้น

ลงทุนอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยง Greenwashing

นักลงทุนควรหมั่นศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ดี โดยทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการลงทุนของกองทุนนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ลงทุนและนโยบายการลงทุนของกองทุน นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามากำกับดูแลด้านนี้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับ Greenwashing โดยกำหนดให้กองทุนต่าง ๆ มีการเปิดเผยข้อมูลทางด้าน ESG เช่น ยุโรปมีการออกเกณฑ์ SFDR ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันทางสำนักงาน ก.ล.ต. ของไทยนั้นอยู่ในระหว่างการร่างเกณฑ์สำหรับกองทุน SRI ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นอีกประเทศที่จะมีพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้นเร็ว ๆ นี้

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar