โครงสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืน

การลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นสามารถทำได้หลายวิธี วันนี้เรามาลองเรียนรู้ตัวอย่างวิธีเหล่านั้นผ่าน Morningstar Sustainable Investing Framework กันค่ะ

Morningstar 23/12/2564
Facebook Twitter LinkedIn

การลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเนื่องจากผู้ลงทุนตื่นตัวกับประเด็นนี้มากขึ้น ทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประเด็นอื่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมทั้งผลจากการลงทุนที่มีต่อโลก สำหรับกองทุนรวมไทยก็มีการเติบโตสูงเช่นกัน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้กองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโตกว่าเท่าตัวจากสิ้นปีที่แล้ว โดยในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.0 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดีนักลงทุนบางท่านอาจยังไม่เข้าใจ หรือมีความสับสนทั้งในความหมายและวิธีการลงทุนอย่างยั่งยืนซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง และมีพัฒนาการมาต่อเนื่องในรอบทศวรรษที่ผ่านมาจากที่บริษัทจัดการลงทุนได้มีการนำประเด็นด้านความยั่งยืนไปปรับใช้กับการลงทุนที่มีอยู่เดิม โดยพัฒนาการนี้ได้ดำเนินไปล่วงหน้าก่อนการออกกฎเกณฑ์ในหลายตลาดทั่วโลก

จากความสับสนในความหมายและวิธีการลงทุนนี้ Morningstar Sustainable Investing Framework จะเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจถึงปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ลงทุนมองหาการลงทุนอย่างยั่งยืน และแสดงวิธีการลงทุนอย่างยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยความหมายของการลงทุนอย่างยั่งยืนคือการได้ผลตอบแทนทางการเงินที่แข่งขันได้พร้อมกับขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

Morningstar Sustainable Investing Framework หรือโครงสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ Motivations, Approaches และ Portfolios (Framework MAP)

framework

Investor Motivations

ในส่วนแรกคือ Investor Motivations หรือแรงจูงใจและสาเหตุที่ทำให้ผู้ลงทุนสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน ประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจผลจากการกระทำที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ lifestyle เช่น ผู้บริโภคอาจเลือกสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนสินค้าที่ใช้โฟมมากขึ้น และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสที่จะนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืนมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจการลงทุนได้เช่นกัน

Investment Approaches

ส่วนถัดมาคือ Investment Approaches ที่เป็นส่วนของวิธีการลงทุนเพื่อการหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบไปจนถึงการมุ่งไปที่ผลกระทบเชิงบวก ในทางปฏิบัติจริงนั้นนักลงทุนเพื่อความยั่งยืนมักจะนำวิธีการทั้ง 6 วิธีนี้มาใช้ร่วมกันเนื่องจากทุกวิธีมีความเกี่ยวเนื่องและเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน และ 6 วิธีที่ว่านี้ประกอบด้วย:

approach

-       Apply exclusions หมายถึงการงดลงทุนในธุรกิจบางประเภทหรือบริษัทที่มีเหตุการณ์หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม

-       Limiting ESG Risk เป็นการนำข้อมูล ESG ไปใช้ในการประเมินโดยมักจะเป็นในลักษณะของ ESG Rating ที่เป็นการประเมินความเสี่ยง ESG

-       Seeking ESG Opportunities หมายถึง การนำข้อมูล ESG มาใช้ประเมินว่าบริษัทใดเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรืออาจประเมินว่าบริษัทใดมีพัฒนาการความยั่งยืนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

-       Practicing Active Ownership คือการสร้างผลบวกด้าน ESG ผ่านการใช้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของจากการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งสามารถทำได้โดยมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเกี่ยวกับ ESG การเสนอประเด็นเกี่ยวกับ ESG ในการประชุมผู้ถือหุ้น ไปจนถึงการสนับสนุนประเด็น ESG ในการออกเสียงลงคะแนน

-       Targeting Sustainability Theme คือการลงทุนในบริษัทที่คิดว่าจะได้ประโยชน์จากการความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตระหนักถึงความยั่งยืนในสังคม ยกตัวอย่างเช่นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ renewable energy หรือ clean tech ในขณะที่ประเด็นด้านสังคมจะเป็นการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสถานที่ทำงาน หรือคำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงานในองค์กร

-       Assessing Impact หมายถึงการนำการประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนผสานกับการคัดเลือกตราสารที่ลงทุน ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนตราสารหนี้จะลงทุนในหุ้นกู้ที่นำเงินที่ได้จากการออกตราสารไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์และโลก ในขณะที่การลงทุนหุ้นจะลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ บริการ หรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ UNSDG

Portfolio

ในส่วนของพอร์ตโฟลิโอนั้น ทั้ง 6 วิธีการลงทุนที่กล่าวมาอาจเป็นส่วนสนับสนุน (Supporting Role) ในการสร้างพอร์ตการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเช่น การจำกัดความเสี่ยง ESG (Limiting ESG Risk) หรืออาจเป็นการนำประเด็น ESG มาใช้เป็นวัตถุประสงค์หลักของการลงทุนได้ หรือเรียกว่า Leading Role

สำหรับนักลงทุนที่มีหลายกองทุนอยู่ในพอร์ตสามารถลองสังเกตุดูได้ว่า กองทุนที่มีอยู่นั้นใกล้เคียงกับวิธีการลงทุนแบบใดมากที่สุด หรือผู้ลงทุนที่ยังไม่ได้เริ่มการลงทุนลักษณะนี้ก็อาจเริ่มต้นโดยพิจารณาดูว่ากองทุนที่สนใจนั้นตรงกับวิธีไหน เพื่อจะช่วยให้นักลงทุนเห็นในภาพรวมได้ว่ามีสัดส่วนการลงทุนอย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar