สรุปภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 2-2022 (1)

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.8 ล้านล้านบาท หดตัว 7.0% จากไตรมาสแรก หรือลดลง 10.8% จากสิ้นปี 2021

Morningstar 14/07/2565
Facebook Twitter LinkedIn

มูลค่าทรัพย์สินยังหดตัว เงินไหลเข้ากองทุน Money market สูงสุดต่อเนื่อง

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.8 ล้านล้านบาท หดตัว 7.0% จากไตรมาสแรก หรือลดลง 10.8% จากสิ้นปี 2021 ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 1.2 แสนล้านบาท รวมเงินไหลออกสุทธิสะสมในรอบครึ่งปีแรกแตะระดับ 2.0 แสนล้านบาท โดยในภาพรวมนักลงทุนยังคงลดความเสี่ยงโดยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำสุด เห็นได้จากกองทุน money market เป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดต่อเนื่องอีก 1 ไตรมาส รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิรอบครึ่งปีแรก 5.9 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 9.7% จากสิ้นปีที่แล้ว

เงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น รวมครึ่งปี 2.3 แสนล้านบาท

ในทางกลับกันกองทุนตราสารหนี้ยังมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องอีก 1.4 แสนล้านบาทจากทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น และผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ที่เฉลี่ยติดลบของแต่ละกลุ่ม ซึ่งอยู่ในช่วงตั้งแต่ 0.1% ไปจนถึงติดลบเกือบ 9% เป็นส่วนให้เงินไหลออกด้วยเช่นกัน รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนตราสารหนี้ 2.3 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 15.2% จากสิ้นปีที่แล้วไปอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านล้านบาท

1

กองทุนตราสารทุนมีเงินไหลออกสุทธิเล็กน้อย รวมครึ่งปีไหลเข้าสุทธิ 3.9 พันล้านบาท

กองทุนตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 13.5% ไปอยู่ที่เกือบ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งการลดลงนั้นเป็นผลจากผลตอบแทนติดลบในตลาดหุ้นทั่วโลก ยกเว้นตลาดหุ้นจีนที่มีการฟื้นตัวขึ้นมาหลังผ่านช่วง lockdown ในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนตราสารทุนรวมทั้งสิ้น 242 ล้านบาท รวมครึ่งปีเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.9 พันล้านบาท

2

กองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสแรก แต่ลดลง 5.9% จากสิ้นปี 2021 โดยในมีเงินไหลเข้าในกองทุนทองคำ 1.5 พันล้านบาท จากราคาทองคำมีการปรับตัวลงตลอดช่วงไตรมาสที่ผ่านมา มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือน -4.6% ในขณะที่กองทุนน้ำมันเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 7.5% และในรอบครึ่งปีที่ 37.0% มีเงินไหลออกต่อเนื่องจากไตรมาสแรกอีกที่ระดับ 300 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกกองทุน Commodities ยังมีเงินไหลออกสุทธิ 3.4 พันล้านบาท

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตาม Morningstar Category

กองทุน Money Market เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงครึ่งหลังของปี 2020 ถึง 2021 โดยเป็นการเพิ่มขึ้น 9.7% จากสิ้นปี 2021 และในไตรมาสล่าสุดนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดเพิ่มอีก 4.5 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปี 5.9 หมื่นล้านบาท

กลุ่ม Equity Large-Cap ยังคงอยู่ในอันดับ 2 โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงลดลงต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดแตะที่ระดับต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท ลดลง 7.8% จากสิ้นปี 2021 โดยในไตรมาสนี้มีเงินไหลออกเพิ่มอีก 3.0 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกจากกองทุน LTF กว่า 4.8 พันล้านบาท รวมสะสมครึ่งปีไหลออกสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ไตรมาสที่ผ่านมากองทุน Equity Large-Cap มีผลตอบแทนเฉลี่ย -5.8% และสะสมตั้งแต่ต้นปี -4.1%

ทางด้านกลุ่มกองทุนตราสารหนี้มีเงินไหลออกสุทธิรวม 1.4 แสนล้านบาทในไตรมาสนี้ ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกจากกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมากที่สุด 9.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม โดยบลจ. 3 แห่งมีเงินไหลออกสุทธิระดับหมื่นล้านบาท คือ บลจ.กสิกรไทยเกือบ 4 หมื่นล้านบาท, บลจ.กรุงไทย 2.2 หมื่นล้านบาท และ บลจ. เกียรตินาคินภัทร 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้รวมสะสมรอบครึ่งปีมีเงินไหลออกสุทธิที่ระดับ 1 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 19.3% จากสิ้นปี 2021

3

กองทุนกลุ่ม Mid/Long Term Bond เป็นอีกกลุ่มที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงจากราว 2.5 แสนล้านบาทมาต่ำกว่าระดับ 2 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลออกสุทธิอีก 2.9 หมื่นล้านบาทในไตรมาสนี้ รวมครึ่งปีที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ -0.7% และครึ่งปีที่ -1.1%

กองทุน Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 1.7 แสนล้านบาท ลดลง 23.4% หรือเป็นการหดตัวลงที่มากที่สุดใน 10 อันดับกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดจากผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสะสม -26.8% ในขณะที่ยังมีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 6 เดือนแรก 1.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสนี้ที่ 1.1 พันล้านบาทถือเป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดในรอบ 2 ปี

4

 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar