มูลค่าทรัพย์สิน-เงินไหลเข้า-ออกสุทธิ

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและเงินไหลเข้า-ออกสุทธิตาม Morningstar Category ไตรมาส 3-2020

Morningstar 15/10/2563
Facebook Twitter LinkedIn

10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category

กองทุนรวมกลุ่ม Money Market ยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดรวม 7.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2019 ถึง 30.9% อันเป็นผลมาจากมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิที่สูงในปีนี้

แม้ปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะดอกเบี้ยต่ำที่อาจทำให้เกิดความคาดหวังว่าเงินทุนจะสามารถไหลเข้าการลงทุนในหุ้นไทย แต่กองทุนรวมหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) ยังไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากนัก ทำให้ยังมีทิศทางเป็นเงินไหลออกสุทธิ ทำให้จากที่กองทุนกลุ่มนี้เคยเป็นกลุ่มกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2019 ที่ระดับ 7.3 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 5.6 แสนล้านบาท ลดลง -24% จากปี 2019 (-10.7% qoq) กลุ่ม Aggressive Allocation เป็นอีกกลุ่มที่มีการลงทุนในหุ้นไทยเป็นสัดส่วนหลัก โดยเมื่อไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาทหรือลดลง 26.8% จากปี 2019

กลุ่มกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5 แสนล้านบาท ซึ่งลดลง -16.1% จากปี 2019 ทั้งนี้เกิดจากความกังวลในการลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ ทำให้มีปริมาณเงินไหลออกสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกที่ระดับ 1 แสนล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิเล็กน้อยราว 4.2 พันล้านบาท ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันกองทุนกลุ่ม Flexible Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.3 แสนล้านบาท ลดลง -34.4% จากปี 2019 จากเหตุการณ์เดียวกันกับ Short Term Bond อย่างไรก็ตามกลุ่ม Flexible Bond (กองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ไทยและต่างประเทศ) เริ่มมีทิศทางเงินไหลเข้าสุทธิมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และยังเข้าไหลเข้าต่อในไตรมาสล่าสุด ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 6.9% จากไตรมาสก่อนหน้า

กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ Global Bond มีการเติบโตที่ค่อนข้างดีโดยมูลค่าทรัพย์สินล่าสุดอยู่ที่ 9.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.7% จากสิ้นปี 2019 โดยมีกองทุน Thanachart Eastspring GIS Global Bond เป็นกองทุนที่เปิดใหม่ในปีนี้และได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.3 พันล้านบาท ถือเป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดสำหรับกลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา

Q3 20 TH 3 category growth

10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากองทุนรวมไทยมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.8 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิจะเป็นกลุ่มกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศเช่น China Equity, Global Equity, Flexible Bond, Global Bond, และ US Equity เป็นต้น ในขณะที่กองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นทิศทางเงินไหลออกสุทธิเช่น Aggressive Allocation, Equity Large-Cap และ Money Market เป็นต้น

ทั้งนี้ภาพของ 9 เดือนจะยังไม่ต่างครึ่งปีแรกมากนัก เนื่องจากยังเห็นผลกระทบจากเงินไหลออกในปริมาณมากจากกองทุนรวมตราสารหนี้และไหลเข้ากองทุนรวมตราสารตลาดเงิน จึงทำให้กองทุนรวมกลุ่ม Money Market ยังเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามในไตรมาสล่าสุดเริ่มมีทิศทางเป็นเงินไหลออกจากกองทุนรวมตราสารตลาดเงินที่ -4.4 พันล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนรวม -3.1 หมื่นล้านบาท

กลุ่ม Moderate Allocation มีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสล่าสุด -3.7 พันล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท จึงทำให้เป็นอีกกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในประเทศที่ติดอันดับเงินไหลเข้าสูงสุดในช่วง 9 เดือนรวมมูลค่า 6.8 พันล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้าสุทธิกองทุน SCB Smart Income Plus (Acc) จาก บลจ. ไทยพาณิชย์ สูงสุดที่ 1.0 หมื่นล้านบาท)

นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ในประเทศจีนเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งนักลงทุนอาจมองว่าเศรษฐกิจประเทศจีนจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ กองทุนกลุ่ม China Equity จึงเป็นการลงทุนต่างประเทศที่ได้รับความนิยม โดยมีปริมาณเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสล่าสุด 2.8 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนแรกเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท กองทุนกลุ่ม Global Equity มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับสองที่ 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท

หากไม่นับรวมกองทุนประเภท term fund และกองทุนลักษณะพิเศษ/ไม่สามารถจัดกลุ่มได้ (Miscellaneous) จะพบว่าเงินไหลออกสุทธิส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้กลุ่ม Short Term Bond และ Flexible Bond ที่มีแรงเทขายเงินลงทุนในช่วงต้นปี โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงไตรมาส 3 ที่ 4.2 พันล้านบาทและ 2.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามจะยังเห็นผลกระทบเป็นเงินไหลออกสุทธิในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ระดับมากกว่า 1 แสนล้านบาททั้ง 2 กลุ่ม

กลุ่ม Aggressive Allocation ในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ -1.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกจากกองทุน SCB Income Plus มากที่สุดที่ -8.2 พันล้านบาท ในขณะที่มีเงินไหลออกสุทธิจากบลจ. อื่นในระดับต่ำที่หลักร้อยล้านถึง 1 พันล้านบาท รวม 9 เดือนกองทุนกลุ่มนี้มีเงินไหลออกสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนของ บลจ. ไทยพาณิชย์ รวม -2.7 หมื่นล้านบาท
ดัชนี SET Index ในช่วงไตรมาสล่าสุดเป็นไปในทิศทางปรับตัวลงรวมทั้งไม่มีเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนประหยัดภาษีที่เคยช่วยหนุนดัชนี SET Index กลุ่ม Equity Large-Cap จึงมีเงินไหลออกสุทธิ -8.7 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่มาจาก บลจ.ธนชาต รวม -5.3 พันล้านบาท ในขณะที่ บลจ. อื่น ๆ มีเงินไหลออกสุทธิต่ำกว่าหลักพันล้านบาท

Q3 20 TH 4 category flow

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar